woke คืออะไร
Woke (โวค) เป็นคำที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อย ๆ บนสื่อออนไลน์ และโซเชียลมีเดียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นสือภาพยนตร์ เกม กลุ่มที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องต่าง ๆ ความบกพร่องทางร่างกาย ฯลฯ จนทำให้สื่อบันเทิงต่าง ๆ พยายามนำเสนอประเด็นอย่าง ความเท่าเทียม และ ความหลากหลาย ทั้งทางเพศ และทางเชื้อชาติเข้าไปในผลงาน ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า “มากเกินไป” และเข้าข่ายเป็นการ “ยัดเเยียด” ซึ่งทำให้เกิดกระแสต่อต้านความ Woke ที่ไม่เหมาะสมกับบริบทในเรื่องที่จะพยามเสนอต่อผู้บริโภค ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่ายัดเเยียดความ Woke ให้กับผู้บริโภค คือการการเลือกนักแสดงผิวดำมารับบทที่ต้นฉบับเป็นตัวละครผิวขาวใน The Little Mermaid หรือ เลือกนักแสดงชาวลาตินมาแสดงเป็นตัวละคร สโนว์ ไวท์ และรวมถึงการผลักดันบทบาทเด่นให้ตัวละครหญิง และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในหนังหลาย ๆ เรื่อง เป็นต้น ซึ่งการ Woke ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่ต้องทำอย่างเหมาะสม และไม่ยัดเเยียดจนเกินไปนั้นเอง แต่รู้ไหมว่าคำ woke คืออะไร ความหมายจริง ๆ ในการใช้เป็นแบบไหน และจุดเริ่มต้นของการตื่น “Woke” ของในแต่ละช่วงเวลา หรือข้อเรียกร้องของแต่ละกลุ่มเป็นอย่างไร

หมูเด้งคือใคร หมูเด้งอยู่ที่ไหน ทำความรู้จักเจ้าฮิปโปแคระสุดมุ้งมิ๊ง ขวัญใจชาวไทย 

woke คืออะไร ความหมายจริง ๆ เป็นอย่างไร มาทำความเข้าใจกับคำนี้กัน

wo ke คือ อะไร สำหรับคำว่า “Woke” (โวค) ถูกบรรจุลงในพจนานุกรมภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เมื่อปี 2017 โดยกำหนดความหมายไว้ว่าเป็นคำคุณศัพท์ (adjective) หมายถึง การตื่นรู้หรือตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมในสังคม โดยเฉพาะเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ สีผิว และเพศ (racism) แม้คำนี้จะถูกบรรจุลงในพจนานุกรมของอ็อกซ์ฟอร์ดในปี 2017 แต่เอาจริง ๆ “Woke” ไม่ใช่คำใหม่ แต่เป็นกริยาช่อง 2 ของคำว่า “Wake” (Wake / Woke / Woken) ที่แปลว่า “ตื่น” และถูกใช้มาตั้งแต่ยุค 80-90s แล้ว

Woke เป็นคำที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อย ๆ บนสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พยายามเรียกร้องสิทธิในสังคม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดทางการเมืองที่เรียกว่า Political Correctness หรือ PC ที่แม้จะมีความหมายตรงตัวว่า “ความถูกต้องทางการเมือง” แต่แท้จริงแล้ว ไม่ได้หมายถึงการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงทัศนคติ นโยบาย หรือพฤติกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติ เพศ สติปัญญา ความบกพร่องทางร่างกาย ฯลฯ ยกตัวอย่างเช่น การใช้คำว่า flight attendant (พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน) แทนคำว่า steward, stewardess (สจ๊วต, แอร์โฮสเตส) หรือการใช้คำว่า survivor (ผู้รอดชีวิต) แทนคำว่า victim (เหยื่อผู้เคราะห์ร้าย) เป็นต้น
จุดเริ่มต้นของการตื่น “Woke” ของในแต่ละช่วงยุค และข้อเรียกร้องของแต่ละกลุ่ม

  • 1930s

สหรัฐเป็นประเทศที่มีปัญหาภายในหลายประการย ปัญหาที่ขึ้นชื่อมากเช่นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคนผิวขาวและผิวดำ, การเลือกปฏิบัติทั้งทางเพศและสีผิว, ไปจนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่ง Woke เป็นกระแสที่เกิดขึ้นต่อต้านสิ่งเหล่านี้ จริง ๆ Woke ไม่ใช่เรื่องใหม่ ตั้งแต่ช่วงปี 1930s เคยมีศิลปินผิวดำที่ออกมาบอกคนผิวดำด้วยกันว่า “Stay Woke” เป็นการสร้างความตระหนักถึงปัญหาทางสังคมและการเมือง โดยเฉพาะเรื่องเหยียดผิว

  • ต้นศตวรรษที่ 21

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 เกิดปัญหาการกระทำเกินกว่าเหตุของตำรวจต่อคนผิวดำอยู่หลายคดี โดยเฉพาะเหตุที่ “ไมเคิล บราวน์ จูเนียร์” หนุ่มอเมริกันผิวดำวัย 18 ปี ถูกดาร์เรน วิลสัน ตำรวจผิวขาวยิงเสียชีวิตในเมืองเฟอร์กูสัน รัฐมิสซูรี เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2014 ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเกิดความตื่นตัวและคิดอ่านหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ คำว่า “Woke” ในที่นี้จึงหมายถึงพวกเขาได้ตื่นขึ้นจากการหลับใหลแล้ว และจะไม่ปล่อยให้สังคมมากดทับพวกเขาอีกต่อไป

ต่อมากระแส Woke ได้ปริวรรตเป็นกระแสการเมืองฝ่ายซ้ายสายหนึ่ง ซึ่งให้ความสนใจกับปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเพศ อัตลักษณ์ และฐานะ นอกจากนั้นยังมุ่งเน้นลดความรุนแรงของตำรวจ และในช่วงหลังได้เพิ่มประเด็นทางเศรษฐกิจเข้าไปด้วย ปัจจุบันผู้ที่ยึดเอาอุดมการณ์ Woke มักอยู่ในรุ่นมิลเลเนียล หรือคนที่เกิดหลังกลางทศวรรษ 1990s เป็นต้นมา ในที่นี้ผมจะขอแยกอธิบายประเด็นการเรียกร้องของกลุ่ม Woke ออกเป็น 3 เรื่องใหญ่ๆ ที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวาง (ซึ่งจริงๆ มีมากกว่านี้มาก) คือ:

  1. ความเท่าเทียมระหว่างสีผิว
  2. ความเท่าเทียมทางเพศ
  3. ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม
  • กลุ่มเรียกร้องความเท่าเทียมระหว่างสีผิว

กลุ่มที่มักถูกมองเชื่อมโยงกับคำว่า Woke มากที่สุด คือ กลุ่มที่เรียกร้องความเท่าเทียมระหว่างสีผิว โดยมีกลุ่ม แบล็กไลฟส์แมตเตอร์ (Black Lives Matter) หรือแปลว่า “ชีวิตคนดำก็มีความหมาย” เป็นแกนหลัก และกลุ่มนี้พยายามชี้ประเด็นการใช้กำลังรุนแรงเกินกว่าเหตุของตำรวจ, เหตุฆาตกรรมคนผิวดำ ตลอดจนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในสหรัฐ กลุ่มนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2012 แต่เพิ่งมาดังก็พร้อมกับกระแส Woke จากคดีไมเคิล บราวน์ในปี 2014

กระแสนี้ยังได้รับการขานรับจากผู้มีชื่อเสียงในสังคม โดยเฉพาะหลังจาก คอลิน แคเปอร์นิก (Colin Kaepernick) นักกีฬาอเมริกันฟุตบอล รณรงค์เรื่องนี้ด้วยวิธีการคุกเข่าระหว่างเปิดเพลงชาติ ทำให้เกิดปฏิกิริยาทั้งแง่บวกและแง่ลบอย่างกว้างขวาง กลุ่มนี้ใช้วิธีการประท้วงหรือจัดการเดินขบวนอยู่เรื่อยๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ซึ่งการประท้วงส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 93 เป็นไปโดยสงบ แต่บางทีก็บานปลายจนเป็นการก่อจลาจล การปล้นสะดมและการทำลายทรัพย์สินได้เหมือนกัน

และในช่วงหลังมานี้ กลุ่มแบล็กไลฟส์แมตเตอร์และกลุ่มเพื่อคนผิวดำอื่นๆ ได้สร้างข้อเรียกร้องใหม่ที่มีสโลแกนว่า “Defund the Police” หรือแปลว่า “ตัดงบตำรวจ” โดยระบุว่า เนื่องจากที่ผ่านมาตำรวจมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม จึงควรลดงบตำรวจแล้วไปเพิ่มสวัสดิการอื่นๆ เพื่อลดอาชญากรรมตั้งแต่ต้นเหตุ เช่น การเพิ่มงบที่อยู่อาศัย, การศึกษา, การจ้างงาน, ความยากจน, และปัญหาทางจิต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อนำข้อเรียกร้องของกลุ่มนี้ไปปฏิบัติจริงในบางท้องที่ กลับพบว่ามีอาชญากรรมเพิ่มขึ้นแทน มิหนำซ้ำยังเป็นอาชญากรรมต่อกลุ่มคนดำเสียด้วย ข้อเรียกร้องนี้จึงไม่ได้รับความนิยมและถูกโจมตีมาก

  • กลุ่มแอนตีฟา

อีกกลุ่มหนึ่งที่มีแนวคิดต่อต้านการเหยียดผิว (แม้ไม่ค่อยถูกเชื่อมโยงกับคำว่า Woke) นั่นก็คือ กลุ่มแอนตีฟา (Antifa) และแอนตีฟามาจากคำว่า ต่อต้านฟาสซิสต์ (anti-fascist) กลุ่มนี้จะตอบโต้การเติบโตของพวกนีโอนาซี, พวกเชื่อว่าคนขาวเป็นใหญ่ (white supremacist), และกลุ่มขวาจัดอื่นๆ เช่น ขวาทางเลือก (alt-right) และกลุ่มนี้มีความพิเศษ เนื่องจากแนวคิดของพวกเขามีหลายเฉดเป็นอย่างยิ่ง มีตั้งแต่ต่อต้านฟาสซิสต์ธรรมดา จนถึงพวกซ้ายจัด คือ ต่อต้านทุนนิยม ต่อต้านประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ต่อต้านรัฐ ไปจนกระทั่งเป็นพวกสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ หรือไม่ก็อนาธิปไตย

กลุ่มแอนตีฟาเป็นกลุ่มที่พร้อมชนกับตำรวจ (เพราะมองว่าตำรวจอารักขาพวกขวาจัดหรือบางทีก็เป็นพวกเดียวกัน) และพร้อมตีกับพวกขวาจัดดังที่กล่าวมา โดยเฉพาะเมื่อพวกขวาจัดอเมริกากล้ าแสดงออกมากขึ้นหลังโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 แม้ว่าแอนตีฟาจะถูกพวกฝ่ายขวา หรือฝ่ายซ้ายกลางโจมตีว่าเป็นพวกหัวรุนแรงและก่อการร้ายแต่นักวิชาการบางคนมองว่าความนิยมของแอนตีฟามาจากการเติบโตของพวกขวาจัดก่อน และยังชี้ว่าการเทียบแอนตีฟาว่าเหมือนกับนีโอนาซีเป็นเหตุผลวิบัติอย่างหนึ่ง เพราะความรุนแรงที่เกิดจาก 2 ฝ่ายนี้ไม่เท่ากัน

ยังมีประเด็นที่กลุ่มเรียกร้องความเท่าเทียมระหว่างสีผิวชูมีอีกหลายประเด็น อย่างเช่น:

  1. แนวคิดเอกสิทธิ์ของคนขาว (white privilege) ที่บอกว่าเป็นคนขาว “สบาย” กว่าคนดำในหลายเรื่อง
  2. แนวคิดเรื่องเชื้อชาติแบบวิพากษ์ (critical race theory) ซึ่งชี้ให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมของสหรัฐมีการเลือกปฏิบัติต่อคนผิวดำตลอดมา
  3. แนวคิดรัฐบาลควรจ่ายเงินชดเชยให้แก่คนดำที่ทำให้พวกเขาตกเป็นทาส (slavery reparations)
  4. การเรียกร้องให้เลิกเชิดชูและการทำลายรูปปั้นของบุคคลในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการมีทาสมาก่อน

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่แนวคิดดังกล่าวเข้าไปแทรกแซงหลายๆ วงการ เช่นแทรกแซงวงการบันเทิงให้มีการเพิ่มบทนักแสดงผิวดำมากขึ้นนั่นเอง

Woke กลุ่มเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ

Woke กลุ่มต่อมาที่ผมจะกล่าวถึง คือ กลุ่มเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งหลักประกอบด้วยเฟมินิสต์กับกลุ่มสิทธิ LGBTQ เริ่มจากกลุ่มเฟมินิสต์ กลุ่มนี้เรียกร้องให้สังคมมีความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง ดังนั้นในความหมายนี้ผู้ชายก็เป็นเฟมินิสต์ได้ อย่างกระแส men’s liberation ที่ชูประเด็นว่าผู้ชายก็ตกเป็นเหยื่อของกรอบบทบาททางเพศตามขนบธรรมเนียม ก็อาจจัดได้ว่าเป็นเฟมินิสต์เช่นกัน

  • การเคลื่อนไหวเฟมินิสต์นี้ให้ผลดีหลายอย่างต่อสังคม ทั้งสิทธิเลือกตั้ง สิทธิการถือครองทรัพย์สิน สิทธิได้รับการว่าจ้าง สิทธิสมรส ล้วนเป็นผลมาจากกระบวนการเรียกร้องของเฟมินิสต์ระลอกแรก (first wave feminism) ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แม้ความสำเร็จของเฟมินิสต์ระลอกแรกจะได้รับการยกย่องโดยทั่วไป แต่หลังจากนั้นมากระแสเฟมินิสต์ได้ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับจุดประสงค์และวิธีการมากขึ้น
  • กระแสเฟมินิสต์ระลอกสองที่เริ่มขึ้นในทศวรรษ 1960s ได้ครอบคลุมถึงประเด็นที่หลากหลายขึ้น เช่น สิทธิการทำแท้ง, ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว, การถูกคู่รักของตัวเองข่มขืน เป็นต้น จะเห็นว่าเรื่องเหล่านี้แม้ยังคงเป็นที่ถกเถียงและต่อสู้กันมาถึงปัจจุบัน แม้ว่าข้อเรียกร้องเหล่านี้จะดูแล้วเป็นสิ่งดีและสมเหตุสมผลที่จะเรียกร้อง แต่เฟมินิสต์เหล่านี้ก็ยังได้รับเสียงวิจารณ์ ซึ่งบางทีก็มาจากคนบางกลุ่มในสังคมที่ยังหัวโบราณ หรือเพราะเป็นเรื่องที่มีความกำกวมทางศีลธรรม ในหมู่เฟมินิสต์ยังมีความขัดแย้งกันเอง เช่นเฟมินิสต์กลุ่มหนึ่งชี้ว่าการทำแท้งเป็นการฆาตกรรม ขณะที่บางกลุ่มมองว่าการทำแท้งเป็นสิทธิที่ผู้หญิงควรมี
  • สำหรับเฟมินิสต์ระลอกสามที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1980s เป็นกลุ่มที่มีความเห็นแตกออกจากเฟมินิสต์ระลอกสอง เพราะมองว่าเฟมินิสต์ระลอกสองมุ่งไปยังหญิงผิวขาวเป็นหลัก และยังมีหลักคิดแบบชี้นำว่าอะไรควรไม่ควร จึงแยกออกมาตั้งแนวคิดที่เน้นความเชื่อของปัจเจกมากขึ้น และกระแสที่มาแรงสำหรับเฟมินิสต์ระลอกสี่ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 2010s คือขบวนการ MeToo ที่หญิงหลายคนออกมาเปิดโปงว่าตนเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศจากคนมีชื่อเสียงผ่านช่องทางออนไลน์ เฟมินิสต์บางคนได้เรียกร้องให้สังคมเชื่อเรื่องเล่าของหญิงเหล่านี้เพราะเชื่อว่าไม่น่าจะมีคนโกหก แต่หลายครั้งกระแสนี้ก็ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาหลายคนต้องหมดอนาคตในอาชีพการงาน ทั้งที่ยังไม่ถูกตัดสิน จึงเกิดคำถามว่านี่เป็นการลัดกระบวนการยุติธรรมหรือเปล่า?

นอกจากนี้ยังมีประเด็นปลีกย่อยที่เฟมินิสต์มองว่าผู้ชายทำ เช่น menspreading หรือการที่ผู้ชายบางคนนั่งถ่างขากว้างไปกินที่คนอื่น, mansplaining ที่ผู้ชายอธิบายเรื่องที่ผู้หญิงมักเข้าใจดีอยู่แล้ว ในลักษณะที่มองว่าผู้หญิงไม่ฉลาดเท่าตน, หรือการให้ใช้สรรพนามที่ไม่ระบุเพศ เพื่อไม่ให้เกิดการกดทับทางเพศ ในหมู่เฟมินิสต์เองก็มีความเห็นไม่ตรงกันในบางประเด็นเหมือนที่ผ่านมา เช่น เรื่องการประกวดความงามหรือการค้าบริการทางเพศ ด้านหนึ่งก็มองว่าเพศหญิงถูกทำให้เป็นวัตถุทางเพศ แต่อีกด้านหนึ่งก็มองว่าถ้าหญิงคนนั้นเลือกเองก็ไม่ควรจะไปก้าวก่าย

  • Woke กับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม

กลุ่ม Woke อีกกลุ่มที่ผมจะมานำเสนอ คือ กลุ่มที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อนอื่นต้องเรียนท่านผู้อ่านก่อนว่า กลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มที่วางเป้าหมายและประเด็นกว้างกว่าจากกลุ่มสิ่งแวดล้อมกระแสหลัก ที่เน้นเรื่องของการใช้พลังงานสะอาด เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ค่อยมีพูดถึงมากนัก แต่พอสรุปได้ว่าคือ กลุ่มสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ชูประเด็นเรื่องที่พักอาศัยอย่างเพียงพอ, การได้รับมลภาวะอันตรายของแรงงานอาชีพต่างๆ, และการใช้ที่ดินอย่างไม่เหมาะสมของบริษัทใหญ่ในย่านยากจน เช่น การใช้เป็นที่ทิ้งขยะ จะเห็นได้ว่าพวกเขาได้เชื่อมโยงประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเข้ากับเรื่องสิ่งแวดล้อม ขณะนี้มีการเสนอแผนที่จัดการกับประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจไปพร้อมกัน เช่น Green New Deal ในสหรัฐ หรือ European Green Deal ในสหภาพยุโรป

สรุป woke คืออะไร เป็นการตื่นรู้ที่ไม่เพิกเฉยต่อความเหลื่อมล้ำ หรือความอยุติธรรมในสังคมโลกยุคใหม่ ไม่จะเป็นเรื่องของ เพศ ชาติพันธุ์ ความเท่าเทียม และความหลากหลายอื่น ๆ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามการตื่นรู้ หรือ Woke จะต้องนำมาใช้อย่างถูกหลัก และไม่เป็นไปอย่างฉาบฉวย หรือถูกนำไปเป็นจุดขายเพื่อแปะป้ายให้ตัวเองดูดี ซึ่งในขณะเดียวกันก็ต้องไม่มากเกินไปจนกลายเป็นการยัดเยียด จน Woke กลายเป็นเครื่องมือบีบบังคับและทิ่มแทงคนอื่นที่เห็นต่างได้ และอย่าใช้เป็นเครื่องมือโจมตีฝ่ายที่เห็นต่างจากตนเอง


ขอบคุณเนื้อหาจาก : wikipedia

เป็นกำลังใจช่วยแชร์หน่อยค่ะ



ball