คุณคิดว่าจะทำยังไง หากคุณเป็นโรคที่ทำให้คุณมีความสามารถในการสื่อสารกับผู้อื่นลดลง หรือแม้กระทั่งสื่อสารกันไม่ได้ ที่พูดถึงไม่ได้หมายถึงผู้ที่เป็นออทิสติก แต่เป็นอาการพิการทางสมองของมนุษย์ ที่มีอาการผิดปกติในด้านของการพูด ความเข้าใจภาษา ที่ไม่ว่าช่วงวัยไหนก็สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งอาการป่วยนี้ ก็มีดาราฮอลลีวูดที่โด่งดังอย่าง บรูซ วิลลิส ป่วยด้วยอาการนี้เหมือนกัน เนื่องจากมีอาการป่วยด้วยภาวะบกพร่องทางการสื่อสาร ทำให้การสื่อสารกับผู้ที่ป่วยเป็นไปด้วยความยากลำบาก วันนี้เราจะพามาทำความเข้าใจ และรู้จักกับอาการนี้ว่า โรค Aphasia คืออะไร เกิดจากสาเหตุอะไร พร้อมทั้งหาวิธีป้องกันไปพร้อม ๆ กัน
โรคแพนิกห้ามกินอะไร เปิดเมนูต้องห้ามคนเป็นรู้ไว้ อาการไม่กำเริบ
Aphasia คืออะไร และอาการเป็นอย่างไร
ภาวะเสียการสื่อความ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Aphasia เป็นความผิดปกติด้านการสื่อสาร ทำให้ผู้มีภาวะนี้มีความเข้าใจและการใช้ภาษาที่ผิดปกติไปในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะการพูด ฟัง อ่าน และเขียน โดยภาวะเสียการสื่อความสามารถแบ่งเป็น 2 ชนิด ดังนี้
- ชนิดพูดไม่คล่อง
ผู้ป่วยสามารถเข้าใจการสื่อสารจากคนอื่นได้ แต่จะมีปัญหาในการสื่อสารกลับไป เช่น นึกคำที่จะพูดไม่ออก บอกสิ่งที่ต้องการไม่ได้
- ชนิดพูดคล่อง
ผู้ป่วยจะขาดความเข้าใจในคำพูดของผู้อื่น แต่สามารถพูดสื่อสารได้ เพียงแต่เนื้อหาที่พูดออกมานั้นจะเป็นคนละเรื่องกับที่สนทนา เช่น ถามว่าไปไหนมา อาจตอบว่าเมื่อเช้ากินข้าวไปแล้ว เป็นต้น
Aphasia อาการเป็นอย่างไร อาการของภาวะเสียการสื่อความ สังเกตได้ชัดจากท่าทางการพูดและตอบโต้ ดังนี้
- พูดไม่ได้ สื่อสารไม่ได้ และใช้ภาษากายไม่ได้เช่นกัน
- ตอบไม่ตรงคำถาม เนื่องจากไม่เข้าใจในสิ่งที่คนอื่นพูด
- พูดไม่ชัด พูดได้เป็นประโยคสั้น ๆ
- นึกคำที่จะพูดไม่ออก
- ลืมชื่อคนในครอบครัว ลืมชื่อของใช้ บอกความต้องการของตัวเองไม่ได้
- บอกตามคำสั่งไม่ได้
- พูดตามไม่ได้
- มีความผิดปกติทางการใช้ภาษา คืออาจพูดอะไรที่ไม่มีความหมาย ฟังแล้วไม่สามารถเข้าใจได้ตามปกติ
- มีความลำบากในการเคลื่อนไหวอวัยวะที่ใช้ในการพูด ทั้งปาก ลิ้น ขากรรไกร
Aphasia เกิดจากอะไร และป้องกันได้ไหม
- Aphasia เกิดจากอะไร
สาเหตุของภาวะเสียการสื่อความ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นอย่างกะทันหันหลังจากเส้นเลือดในสมองตีบ แตก ตัน จากโรคหลอดเลือดสมองที่เป็นศูนย์กลางในการควบคุมความเข้าใจภาษาการพูด และความสามารถอื่น ๆ ในด้านการสื่อสาร ซึ่งหากสมองส่วนนี้มีปัญหา ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จะทำให้สูญเสียความสามารถในการสื่อสารไป
นอกจากนี้ภาวะเสียการสื่อความยังอาจเกิดขึ้นได้ในคนที่มีอาการบาดเจ็บทางสมอง มีเนื้องอกในสมอง หรือเกิดจากปัจจัยที่ทำให้ระบบประสาทส่วนกลางที่ควบคุมด้านการสื่อสารเสียหายไปอย่างถาวร เช่น ติดเชื้อในสมอง สมองอักเสบ โรคทางระบบประสาท มีการผ่าตัดสมอง และโรคสมองเสื่อม เป็นต้น
- Aphasia ป้องกันได้ไหม
เนื่องจากสาเหตุของภาวะเสียการสื่อความเกิดขึ้นได้บ่อยจากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งก็คือบรรดาโรคเส้นเลือดสมองตีบ แตก ตัน ทั้งหลาย ที่เราสามารถลดความเสี่ยงและป้องกันไม่ให้เกิดกับตัวเองได้โดยรักษาสุขภาพให้ดี กินอาหารที่มีประโยชน์ อาหารที่ดีต่อร่างกาย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่เครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งก็จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคนี้ไปได้ส่วนหนึ่ง
สรุป Aphasia เป็นภาวะบกพร่องทางการสื่อสาร โดยมีพยาธิสภาพในสมองบริเวณที่ควบคุมเรื่องภาษา ซึ่งอาการแตกต่างกันไปตามแต่ละรูปแบบที่ผิดปกติ ส่วนใหญ่มักเป็นในสมองซีกซ้ายมากกว่าซีกขวา ผู้ป่วยที่มีปัญหาการสื่อสารมักประสบปัญหาในการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน และการเข้าสังคม
ขอบคุณเนื้อหาจาก : wikipedia