ถ้าพูดถึงประเพณีไทยในช่วงนี้คงหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงประเพณีไหลเรือไฟไม่ได้แน่ ๆ เนื่องจากประเพณีนี้จัดในช่วงเดือนตุลาคม ช่วง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 โดยเป็นประเพณีของทางนครพนม โดยประเพณีนี้เป็นประเพณีที่ชาวนครพนมภาคภูมิใจ เนื่องจากประเพณีนี้เป็นพิธีกรรมที่ยึดถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษจนเกิดเป็นประเพณีเฉพาะท้องถิ่นขึ้น สืบทอดต่อกันมารุ่นสู่รุ่น ประเพณีการไหลเรือไฟบางที่ก็มีการเรียกต่างกันออกไป บ้างก็ว่า ล่องเรือไฟ, ลอยเรือไฟ หรือ ปล่อยเรือไฟ ซึ่งมีความหมายเป็นอย่างเดียวกันก็คือ ไหลเรือไฟ สำหรับหลาย ๆ คนที่ยังไม่ทราบว่าประเพณี ไหลเรือไฟ คืออะไร วันนี้เราได้นำข้อมูลที่หลาย ๆ คนน่าจะสนใจ และอยากรู้มาให้ได้ชมกัน
ประวัติคลองโคกขาม เปิดประวัติคลอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นตำนานพันท้ายนรสิงห์
ไหลเรือไฟ คืออะไร
ไหลเรือไฟ เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องในพุทธศาสนา และเป็นพิธีกรรมที่ยึดถือปฏิบัติกันมาจนเกิดเป็นประเพณีเฉพาะท้องถิ่นขึ้น บางครั้งเรียกว่า ลอยเรือไฟ หรือล่องเรือไฟ แต่ในปัจจุบันเรียกว่า “ไหลเรือไฟ” ประเพณีไหลเรือไฟเป็นพิธีกรรมหนึ่งในงานบุญออกพรรษา เป็นประเพณีฮีต สิบสองของชาวอีสาน จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เชื่อกันว่า การไหลเรือไฟในแม่น้ำโขงคือการขอขมาและรำลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคาพร้อมกับบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
นอกจากนั้นยังมีความเชื่อที่ชี้ให้เห็นถึงภูมิปัญญาในเชิงสร้างสรรค์ทางด้านการเกษตรกรรม เชื่อว่าการไหลเรือไฟจะทำให้ฝนในปีต่อไปดี เพราะการไหลเรือไฟเป็นการปล่อยไฟลงน้ำ ทำให้พญานาคที่อยู่ในน้ำได้รับความเดือดร้อนแล้วหอบน้ำหนีขึ้นไปอยู่บนฟ้า พอถึงเดือนหกน้ำในโลกมนุษย์จะแห้ง ผู้คนเดือดร้อน จึงพากันจุดบั้งไฟขอฝน พอมนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นไป พญาแถนจะสั่งให้พญานาคนำน้ำที่หอบขึ้นมาไปคืนในโลกมนุษย์ จึงตกลงมาเป็นน้ำฝน
พิธีกรรมและรูปแบบจากอดีตถึงปัจจุบัน
งานประเพณีไหลเรือไฟของชาวนครพนมเป็นเทศกาลงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของผู้คนแถบลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งชาวไทยและชาวลาวจะมาร่วมงานกันอย่างเนืองแน่น ความโดดเด่นของงานอยู่ที่เรือไฟซึ่งส่องแสงสว่างสวยงามยามค่ำคืนกลางลำน้ำโขง ในงานเต็มไปด้วยผู้คนจากทุกสารทิศ ในอดีตมีการทำเรือไฟด้วยไม้ไผ่และต้นกล้วย ยาวเพียง 5-6 วาเท่านั้น ความสูง ไม่เกิน 1 เมตร และเป็นรูปเรือธรรมดา ทำราวไว้สองข้าง เพื่อวางขี้กะไต้ ตะเกียง หรือโคมไฟ มีการจัด ข้าวปลาอาหารขนมนมเนย ฝ้ายไน ไหมหลอด เสื่อผืน บรรจุไว้ข้างใน พอเวลาประมาณ 5 โมงเย็นจะเริ่มทำพิธี โดยนิมนต์พระมาสวดและหลังการรับศีล ฟังเทศน์ ไหว้พระเรียบร้อยแล้ว จึงให้ญาติโยมตกแต่งเรือด้วยดอกไม้ธูปเทียนที่ถือไปบำเพ็ญกุศลนั้นเอง พอย่ำค่ำก็นำเรือไฟออกไปกลางแม่น้ำโขงแล้วจุดไฟปล่อย ให้เรือไหลไปตามลำน้ำส่งแสงระยิบระยับทอดยาวไปไกลจนสุดสายตา
สรุป ไหลเรือไฟ ประเพณีไหลเรือไฟจึงมีการเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันหลายความเชื่อ ทั้งความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาในการบูชารอยพระพุทธบาท ความเชื่อเกี่ยวกับวันพระเจ้าเปิดโลก ความเชื่อเกี่ยวกับการขอขมาและรำลึกถึงพระแม่คงคา รวมไปถึงความเชื่อเกี่ยวกับการขอฝน ถือได้ว่าชาวนครพนมได้ผสมผสานความเชื่อของการไหลเรือไฟไว้เป็นที่ยึดถือปฏิบัติต่อกันมาได้อย่างเหนียวแน่น นอกจากนั้นการไหลเรือไฟยังสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์เฉพาะตนและวิถีชีวิตของชาวลุ่มแม่น้ำโขงที่อาศัยน้ำในการหล่อเลี้ยงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการอุปโภคบริโภค การทำการเกษตร การประมง รวมถึงการคมนาคมน้ำ และยังแสดงถึงการมีวัฒนธรรมร่วมกันของชาวไทย-ลาว ที่ให้ความสำคัญกับแม่น้ำ เป็นประเพณีที่ปฏิบัติร่วมกันของคนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง เป็นการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมร่วมกันทำให้มีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ จึงทำให้ประเพณียังคงสืบต่อไป แม้ความเชื่อความศรัทธาอาจจะน้อยลงไปหรือเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย เพราะการเข้ามาของค่านิยมสมัยใหม่ ที่ทำให้คนส่วนใหญ่หันไปมองความสวยงามตระการตา และการแข่งขันเพื่อชิงรางวัลมากกว่าความศรัทธาที่มีมาตั้งแต่อดีต
ขอบคุณเนื้อหาจาก : wikipedia