รู้กันหรือไม่ ในรอบ 1 ปี โลกของเราโคโจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดปรากฎการณ์ทางธรรมชาติมากมาย และหนึ่งในนั้น คือปรากฎการณ์ที่เรียกว่า ครีษมายัน หรือ วัน ครีษมายัน คืออะไร ที่ในภาษาอังกฤษเรียกกันว่า Summer Solstice ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะไม่ค่อยคุ้นกับ คำ ๆ นี้กัน บทความนี้เลยอยากจะพาเพื่อน ๆ มาทำความรู้จักกับ วันครีษมายัน กันให้มากกว่าเดิม
วันศารทวิษุวัต วันที่กลางวันเท่ากับกลางคืน
ครีษมายัน คืออะไร มีความหมายว่าอย่างไร
ครีษมายัน มาจากคำสันสกฤต คฺรีษฺม ที่แปลว่า จุดสุดทางเหนือ + อายน ที่แปลว่า การโคจร หรือการมาถึง ดังนั้น คำว่า วันครีษมายัน จึงหมายถึง วันที่พระอาทิตย์โคจรจนไปถึงจุดหยุดคือจุดสุดทางเหนือ
วันครีษมายัน มีความสำคัญอย่างไร
วันครีษมายัน เป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ทำให้ประเทศทางฝั่งขั้วโลกเหนือมีกลางวันยาวนานนานกว่ากลางคืน หรือกล่าวได้ว่า เป็นวันที่กลางวันนานที่สุดในรอบปีก็ได้ ซึ่งโดยปกติแล้วจะตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน ของทุกปี (มีคลาดเคลื่อนบ้างเล็กน้อย)
สำหรับประเทศไทย ในวันที่ 21 มิถุนายน 2562 ดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เวลาประมาณ 05:51 น. และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเวลาประมาณ 18:47 น. รวมเวลาที่ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้าเป็นเวลากว่า 12 ชั่วโมง 56 นาที
เกร็ดความรู้ ครีษมายัน
- ในทางกลับกัน ประเทศฝั่งขั้วโลกใต้ วันที่ 21 มิถุนายน จะเป็นวันที่ กลางวันสั้นที่สุดในรอบปี ซึ่งถือเป็นวันแรกของฤดูหนาวถ้านับตามปฏิทินดาราศาสตร์ แต่ถ้าตามอุตุนิยมวิทยาแล้ว ก็จะอยู่ในช่วงกลางของฤดูหนาว
- หลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่า วันครีษมายัน มีอิทธิพลต่อมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ นั่นก็คือ สโตนเฮนจ์ (Stonehenge) ที่ประเทศอังกฤษ ที่ถูกสร้างโดยฝีมือมนุษย์ตั้งแต่เมื่อ 3,000–2,000 ปีก่อนคริสตกาล มีการสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นเพื่อเป็นปฏิทินดาราศาสตร์ และโหราศาสตร์ เพราะ การวางของหิน สัมพันธ์กับการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ และมีบางทฤษฎีที่บอกว่า คนสร้างใช้ วันครีษมายัน หรือ Summer Solstice เป็นจุดเริ่มต้นของการนับวัน
อ่านมาถึงตรงนี้เพื่อน ๆ คงจะเข้าใจและรู้จักกับ ครีษมายัน หรือ วันวันครีษมายัน มากขึ้นแล้ว ก็หวังว่าความรู้เหล่านี้จะมีประโยชน์กับเพื่อน ๆ ได้ ไม่มากก็น้อยนะ
สามารถรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ : คลิกที่นี่
อ้างอิง : คลิกที่นี่