เมื่อพูดถึง โรคไมเกรน ก็คือคนที่มีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง และโรคไมเกรนนี้เองก็เป็น 1 ใน 10 โรคยอดฮิตของคนทำงานอีกด้วย วันนี้จะพาผู้อ่านมารู้จักกับโรคไมเกรน วิธีการสังเกตุอาการรวมถึงการรักษาอีกด้วย
โรคไมเกรน คือโรคที่เกิดจากการบีบตัว และคลายตัวของหลอดเลือดแดงในสมองมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว พร้อมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ในบางรายอาจมีอาการตาพร่ามัวหรือเห็นแสงระยิบระยับร่วมด้วย
ไมเกรน (Migraine) นี้มาจากคำสองคำคือ HEMI + CRANIUM คำ HEMI แปลว่า ครึ่งว่า ครึ่งซีก ส่วน CRANIUM แปลว่า ศีรษะหรือหัว เมื่อคำสองคำมาผสมกันเป็น HEMICRANIUM แต่ยาวเกินไป จึงตัด “HE” ส่วนหน้าออก และ “IUM” ส่วนหลังทิ้ง จึงเหลือ “MICRAN” ในภาษาลาติน ภาษาอังกฤษมาแปลงใหม่เป็น MIGRANE
โรคไมเกรน (MIGRAINE) ความจริงไม่น่าจะจัดว่าเป็นโรคแต่อย่างใด เพราะเป็นภาวะที่หลอดเลือดแดงในสมองบีบตัวและคลายตัวมากกว่าปกติ ในคนปกติหลอดเลือดแดงเหล่านี้มีอยู่มากมายในสมองจะมีการบีบตัวและคลายตัวอยู่เป็นประจำ แต่ไม่มากจึงไม่ปวดหัว ในผู้ปวดไมเกรนจะไม่พบพยาธิใดๆ ในหลอดเลือดแดงของสมองจึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดอัมพาตหรือพิการแต่อย่างใด
อาการของโรคไมเกรนมีดังนี้
- ปวดศีรษะครึ่งซีก อาจเป็นบริเวณขมับหรือท้ายทอย แต่บางครั้งก็อาจเป็นสองข้างพร้อมกันหรือเป็นสลับข้างกันได้
- ลักษณะการปวดศีรษะส่วนมากจะปวดตุ้บๆ นานๆครั้งหรือเกิน20นาที (ยกเว้นจะได้รับประทานยา) แต่บางครั้งถ้าเป็นรุนแรง อาจปวดนานเป็นวันๆหรือสัปดาห์ก็ได้ผู้ป่วยบางรายอาจมีปวดตื้อๆสลับกับปวดตุ้บ ๆ ในสมองก็ได้
- อาการปวดศีรษะมักรุนแรง และส่วนมากจะมีการคลื่นไส้ หรืออาเจียนร่วมด้วยเสมอ โดยอาจเป็นขณะปวดศีรษะ ก่อนหรือหลังปวดศีรษะก็ได้ บางรายมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมากจนรับประทานอะไรไม่ได้
- อาการนำจะเป็นอาการทางสายตา โดยจะมีอาการนำมาก่อนปวดศีรษะราว 10-20 นาที เช่น เห็นแสงเป็นเส้นๆ ระยิบระยับ แสงจ้าสะท้อน หรือเห็นภาพบิดเบี้ยวนำมาก่อน
สิ่งที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดไมเกรน
- ภาวะเครียด
- การอดนอน
- การขาดการพักผ่อน หรือทำงานมากเกินไป
- ขณะมีระดู หรือรับประทานยาคุมกำเนิด
- เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์
- อาหารบางชนิดเช่น กล้วยหอม เนยแข็ง และช็อกโกแลต
วิธีดูแลตัวเองเมื่อเกิดอาการ โรคไมเกรน
- สังเกตและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอและตรงตามเวลาทุกวัน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหมจนเกินไป
- งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ
- งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ, ชา, น้ำอัดลม, เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น
- ในผู้ที่มีความจำเป็นต้องรับประทานยาคุมกำเนิดต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
- ถ้าอาการปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้นหรือมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป ควรปรึกษาแพทย์ทันที
วิธีรักษาโรคไมเกรน
ปวดศีรษะไมเกรนเป็นโรคเรื้อรัง สามารถควบคุมได้ด้วยการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง และการใช้ยาอย่างเหมาะสม เมื่ออายุมากขึ้นมักจะมีอาการปวดศีรษะลดลง การรักษาปวดศีรษะไมเกรน แบ่งได้ 2 ประเภท
1. ระยะที่มีอาการปวดศีรษะเฉียบพลัน ใช้เฉพาะเวลามีอาการปวดศีรษะเท่านั้นและให้รับประทานยาหลังจากที่เริ่มมีอาการปวดศีรษะทันทีจะได้ผลการรักษาอาการปวดศีรษะที่ดี
- ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล, ยาลดการอักเสบที่ไม่ไช่สเตียรอยด์ เป็นต้น
- ยาที่เฉพาะเจาะจงกับไมเกรน เช่น ยากลุ่มทริปแทน (triptan) หรือ ยาที่มีส่วนผสมของเออโกทามีน (ergotamine) ซึ่งออกฤทธิ์ที่เส้นเลือดสมองโดยตรง
- ยาสำหรับลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน
2. ระยะที่ไม่ปวดศีรษะ (ยาป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน) ต้องรับประทานติดต่อกันทุกวัน
- กลุ่มยากันชัก เช่น Topiramate, Valproic acid เป็นต้น
- กลุ่มยาปิดกั้นตัวรับแคลเซียม เช่น Flunarizine, Cinnarizine, Verapamil เป็นต้น
- กลุ่มยาปิดกั้นตัวรับเบต้า เช่น Propranolol, Atenolol, Metoprolol เป็นต้น
กลุ่มยาต้านอาการซึมเศร้า เช่น Amitriptyline, Nortriptyline, Duloxetine, Venlafaxine เป็นต้น
*กรณีมีอาการปวดศีรษะไมเกรนในช่วงมีประจำเดือน สามารถรับประทานยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือยากลุ่มทริปแทนช่วงก่อนมีประจำเดือนประมาณ 2 – 3 วัน และรับประทานยาต่อจนหมดประจำเดือน 4 – 5 วัน
สามารถรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ : คลิกที่นี่
อ้างอิง : คลิกที่นี่