โรคนอนไม่หลับ เป็นปัญหาที่พบได้ทุกวัย ทุกอายุ เกิดขึ้นบ่อยในวัยผู้ใหญ่หรือวัยผู้สูงอายุ หรือพบในผู้ป่วยที่มีปัญหาเจ็บป่วยทางร่างกายหรือจิตใจ ผู้ป่วยจะนอนไม่หลับทั้งที่มีเวลาและโอกาสในการพักผ่อนที่เพียงพอ ซึ่งผลของการนอนไม่หลับทำให้ร่างกายเกิดความอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ จิตใจเกิดความกังวลหรือมีผลต่อการคิดการตัดสินใจและการทำงานในช่วงกลางวัน เช่น ทำให้คิดงานไม่ค่อยออก ความคิดช้าลง เป็นต้น
โรคนอนไม่หลับ สามารถแบ่งได้หลายประเภทตามลักษณช่วงเวลาของการนอนไม่หลับ
- Initial insomnia คือผู้ป่วยมีความวิตกกังวลจึงส่งผลให้นอนไม่ค่อยหลับหรือมีภาวะหลับยาก
- Maintenance insomnia คือผู้ป่วยมีภาวะเกี่ยวข้องกับปัญหาทางกาย เช่นภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น จึงส่งผลให้ตื่นบ่อย นอนหลับระยะเวลาสั้นๆ ในช่วงกลางคืน
- Terminal insomnia คือผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะซึมเศร้า จะมีอาการตื่นนอนเร็วกว่าเวลาที่ควรจะตื่น
อาการของผู้ป่วยที่มีภาวะนอนไม่หลับ
- อ่อนเพลีย
- ไม่สามารถมีสมาธิกับการทำงาน, ความจำเปลี่ยนแปลง
- ความสามารถในการทำงานลดลง
- อารมณ์หงุดหงิดกระสับกระส่าย
- ง่วงนอนเวลากลางวัน
- ขาดพลังในการใช้ชีวิตอ่อนเพลีย
- การเกิดอุบัติเหตุ
- กังวลเกี่ยวกับปัญหาการนอนที่เกิดขึ้น
ปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะนอนไม่หลับ
- ปัญหาความเครียด
- ภาวะความผิดปกติของการหลับเช่น ภาวะขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome)
- ภาวะเจ็บป่วยทางกาย เช่น ปวดตามร่างกาย, กรดไหล่ย้อน, การที่ร่างกายไม่สามารถเคลื่นไหวได้ปกติ สาเหตุข้อนี้พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ นอกจากนี้แล้วภาวการตั้งครรภ์, หมดประจำเดือน ยังมีผลต่อการนอนไม่หลับอีกด้วย
- ภาวะทางจิตใจ เช่น ซึมเศร้า, วิตกกังวล
- ภาวะกังวลว่าจะนอนไม่หลับ ผู้ป่วยจะกังวลกับปัญหาการนอนไม่หลับที่เกิดขึ้นซึ่งความวิตกนี้เองทำให้เกิดการตื่นตัวของร่างกายและจิตใจผลจึงทำให้เกิดภาวะนอนไม่หลับ
- การใช้ยาหรือสารบางอย่าง เช่น ยาแก้หวัด, ยาลดน้ำหนัก, ยาแก้หอบหืด, ยาต้านซึมเศร้า, ยากลุ่ม methylphenidate นอกจากนี้เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน, นิโคตินและแอลกอฮอล์
- ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่นเสียงหรือแสงที่มารบกวน, อุณหภูมิห้องที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น
- ปัญหาการทำงานเป็นกะ (shift work)
วิธีการแก้ปัญหาการนอนไม่หลับ
- เข้านอนเวลาเดิม ๆ ทุกวัน หรือเวลาใกล้เคียงกันทุกวันไม่ว่าจะเป็นวันทำงานหรือวันหยุด
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและไม่ควรออกกำลังกายก่อนเวลานอน 2 ชั่วโมง
- สร้างบรรยากาศห้องนอนที่เหมาะสมกับการนอนหลับ
- ปิดไฟขณะนอนหลับ
- ใช้เตียงนอนสำหรับการนอนหรือกิจกรรมทางเพศเท่านั้นไม่แนะนำให้ทำกิจกรรมอื่นบนเตียงเช่น ดูโทรทัศน์, อ่านหนังสือ เป็นต้น
- ก่อนเวลานอนซัก 1 ชั่วโมงควรผ่อนคลาย เช่น ฟังเพลงสบายๆ, อ่านหนังสือ, นั่งสมาธิ เน้นเป็นกิจกรรมเบาๆ
- ไม่ควรทำกิจกรรมที่ผลทำให้ตื่นเต้นก่อนนอน เช่น เล่นเกมส์, ดูโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ ที่มีความตื่นเต้น
- ไม่ควรดื่มชา, กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนการนอน
- ไม่ควรทานอาหารมื้อใหญ่ อย่างน้อย 4 ชม. ก่อนการนอน
- สามารถนอนงีบได้ในเวลากลางวันโดยงีบไม่เกิน 20 นาทีและไม่ควรงีบหลับหลังบ่ายสามโมง
- ระหว่างนอนหลับไม่ควรดูนาฬิกาเนื่องจากจะทำให้เกิดความกังวล
- ไม่ควรดื่มน้ำมากกว่า 1 แก้วก่อนนอนและแนะนำให้ปัสสาวะก่อนเข้านอน
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์เพื่อช่วยให้หลับถึงแม้ว่าจะช่วยให้หลับได้แต่ทำให้การนอนไม่มีคุณภาพ หากจะดื่มแนะนำให้ดื่มอย่างน้อย 4 ชม. ก่อนเข้านอน
- หลีกเลี่ยงเลี่ยงแสงจ้าในตอนเย็นและพยายามรับแสงในตอนเช้า เช่นเปิดหน้าต่างรับแสงในตอนเช้า
สามารถรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ : คลิกที่นี่
อ้างอิง : คลิกที่นี่