โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัยโดยทั่วไปจะพบในช่วงเจริญพันธุ์คืออายุ 17-50 ปี และพบได้บ่อยในสตรีมากกว่าผู้ชายเนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นประมาณ 45 ซม. และมีลักษณะแบบเปิดบริเวณอวัยวะเพศทำให้มีโอกาสติดเชื้อตอนมีเพศสัมพันธ์เข้าสู่กระเพาะปัสสาวะจนเกิดการอักเสบได้ง่ายกว่า
สาเหตุของโรคเกิดจากกระเพาะปัสสาวะติดเชื้อแบคทีเรียจากทวารหนักและช่องคลอด โดยเชื้อโรคจะเข้าผ่านทางปากท่อปัสสาวะเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเชื้อแบคทีเรียมีด้วยกันหลากหลายชนิดแต่โดย 95% มักมาจากเชื้อโรคอีโคไล(E.coli)
อาการของ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- มีอาการขัดเบา คือ ถ่ายปัสสาวะกะปริดกะปรอย(ปัสสาวะทีละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง) มีอาการคล้ายถ่ายปัสสาวะไม่สุด
- รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อยหรือหัวหน่าว ปวดแสบ ขัด ขณะปัสสาวะโดยเฉพาะตอนปัสสาวะสุด
- ปัสสาวะขุ่น บางครั้งมีกลิ่นผิดปกติ ในรายที่เป็นมากอาจปัสสาวะมีเลือดปนหนองออกมาด้วย มักไม่มีไข้(ยกเว้นถ้ามีกรวยไตอักเสบร่วมด้วย ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะสีขุ่น และมีอาการปวดเอวร่วมด้วย) ในเด็กเล็กอาจมีอาการปัสสาวะ รดที่นอน และอาจมีไข้เบื่ออาหาร อาเจียนร่วมด้วย
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิด โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- การกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ทำให้เชื้อโรคในปัสสาวะเจริญเติบโตได้ดี
- การดูแลรักษาสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศไม่ดี โดยเฉพาะผู้หญิง หากทำความสะอาดไม่ถูกวิธี เช่น เช็ดทำความสะอาดจากด้านหลังมาด้านหน้า ทำให้ติดเชื้อที่ช่องคลอดได้ง่าย
- การสวนล้างช่องคลอดด้วยยาปฏิชีวนะ ทำให้แบคทีเรียชนิดดีที่ทำหน้าที่ป้องกันเชื้อโรคถูกกำจัดออกไป จึงเกิดการติดเชื้อง่ายขึ้น
- ทางเพศสัมพันธ์
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในเพศหญิงวัยหมดประจำเดือน เมื่อฮอร์โมนลดลง ทำให้ความชุ่มชื้นบริเวณเยื่อบุช่องคลอดและเยื่อบุท่อปัสสาวะซึ่งช่วยป้องกันการติดเชื้อลดลงตามไปด้วย
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากควบคุมโรคได้ไม่ดีก็มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายเนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำอยู่แล้ว
- ผู้ป่วยต้องรับประทานยากดภูมิต้านทาน
- การใส่สายสวนปัสสาวะเป็นเวลานาน
วิธีการดูแลรักษา โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ควรดื่มน้ำสะอาดมากๆ ประมาณ 6-8 แก้ว/วัน ซึ่งการดื่มน้ำจะช่วยขับเชื้อโรคออกและลดการปวดแสบปวดร้อน เวลาปัสสาวะได้
- ไม่กลั้นปัสสาวะ
- หลีกเลี่ยงสารอาหารที่ระคายเคืองต่อกระเพาะปัสสาวะ เช่น กาแฟ แอลกอฮอล์ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ใส่น้ำตาล
- พยายามเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ ไม่ควรนั่งแช่อยู่กับที่เป็นเวลานานๆ
- การทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศหรือภายหลังการขับถ่าย(ในผู้หญิง) ต้องทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลังเสมอ เพื่อป้องกันเชื้อโรคปนเปื้อนผ่านเข้าท่อปัสสาวะเข้ามาในกระเพาะปัสสาวะ
- ในผู้หญิงไม่ควรใช้วิธีคุมกำเนิดด้วยการใช้ยาฆ่าอสุจิหรือการใช้ฝาครอบปากมดลูก เพราะเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองและการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อปากท่อปัสสาวะและปากช่องคลอด ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- ไม่ควรใช้สเปรย์หรือยาดับกลิ่นตัวในบริเวณอวัยวะเพศเพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อปากท่อปัสสาวะและปากช่องคลอด
- ควรอาบน้ำจากฝักบัว หลีกเลี่ยงการอาบน้ำในอ่าง เพราะอาจเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- ควรรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง และลดโอกาสการติดเชื้อรุนแรง
- ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจทำให้ได้ยาที่ไม่ตรงกับชนิดของโรค หรือขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาไม่ถูกต้อง จึงอาจส่งผลให้โรคไม่หาย และอาจกลายเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรังจากเชื้อดื้อยาได้
สามารถรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ : คลิกที่นี่
อ้างอิง : คลิกที่นี่