ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

จากกรณี ที่สร้างความแตกตื่นไปทั่วโลก ของ คริสเตียน อิริคเซ่น ในศึกฟุตบอลยูโร 2020 ระหว่างทีม เดนมาร์ก vs ฟินแลนด์ ที่อยู่ ๆ อิริคเซ่น ก็วูบล้มลงหมดสติคาสนาม ในเกมการแข่งขัน ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกใน โลกของการแข่งขันกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอล มีนักฟุตบอลที่เสียชีวิตด้วย ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ลักษณะนี้มาแล้ว บทความนี้เลยอยากพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จัก ทำความเข้าใจว่า ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คืออะไร แล้วรับมือกับมันอย่างไร หากคนใกล้ตัวคุณบังเอิญประสบเหตุแบบนี้

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คืออะไร

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หรือ Sudden Cardiac Arrest คือภาวะที่หัวใจทำงานผิดปกติ จนไม่มีการบีบตัวหรือหยุดเต้นทันที โดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า เมื่อเกิภาวะนี้ จะไม่มีการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้การทำงานของอวัยวะผิดปกติ ซึ่งอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการทำงานของสมอง เมื่อไม่มีเลือดมาเลี้ยงก็ทำให้หมดสติ การช่วยเหลือจึงจำเป็นต้องทำอย่างทันท่วงที

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คืออะไร

แล้ว ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน  พบได้บ่อยแค่ไหน

ถึงแม้ว่าในประเทศไทยจะยังไม่มีการเก็บสถิติการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันที่ชัดเจน แต่จากข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่ามีการเกิดภาวะนี้มากถึงปีละ 300,000 – 400,000 ราย โดยจะพบมากในกลุ่มที่เป็นนักกีฬา

สาเหตุเกิดจากอะไร

ส่วนใหญ่แล้วการเกิดภาวะนี้ก็เนื่องมาจากการที่หัวใจเต้นผิดปกติ ที่เรียกว่า Ventricular Fibrillation ซึ่งในภาวะปกติ หัวใจจะผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวเป็นจังหวะ เพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่เมื่อหัวใจเต้นผิดปกติชนิด Ventricular Fibrillation กระแสไฟฟ้าที่ส่งออกจากหัวใจจะเร็วและไม่เป็นจังหวะ จนทำให้หัวใจไม่บีบตัวและเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงร่างกายได้ ผู้ป่วยจะหมดสติภายในไม่กี่วินาทีและเสียชีวิตได้ทันที แต่เราอาจให้ความช่วยเหลือได้โดยการช็อคด้วยกระแสไฟฟ้า (Electrical Shock) จากเครื่องมือที่เรียกว่า Defibrillator ซึ่งเมื่อก่อนเครื่องมือชนิดนี้มีใช้แต่เฉพาะในโรงพยาบาลหรือรถพยาบาลเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเราอาจจะพบเครื่องมือชนิดนี้ที่สามารถใช้งานได้โดยทั่วไปที่เรียกว่า AEDs (Automatic External Defibrillators) ตามสถานที่ต่างๆ เช่น สนามบิน, โรงเรียน, สนามกีฬา หรือแม้แต่ห้างสรรพสินค้า

กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้คือ “ ใคร “

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมักจะเกิดในคนที่ดูปกติและไม่ทราบว่าเป็นโรคหัวใจมาก่อน ซึ่งความเป็นจริงแล้วเขาเหล่านั้นมักจะมีโรคหัวใจแฝงอยู่โดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งมีสาเหตุหลักๆ คือ

  • หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ พบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดสูง และสูบบุหรี่

 

  • กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง (low ejection fraction EF) Ejection Fraction คือการวัดปริมาณเลือดที่สูบฉีดออกจากหัวใจในการบีบตัว 1 ครั้ง ซึ่งคนปกติหัวใจจะบีบตัวให้เลือดสูบฉีดออกไปต่อครั้งประมาณ 50-70% (EF 50-70%) แต่ในคนที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน จะมีการบีบตัวที่น้อยกว่า 35% (EF < 35%) และในผู้ป่วยที่อายุน้อย โดยเฉพาะที่น้อยกว่า 30 ปี มักเกิดจาก ความผิดปกติในทางเดินกระแสไฟฟ้าของหัวใจ เช่น Congenital long QT syndrome (LQTS) ความผิดปกติที่กล้ามนื้อหัวใจ เช่น Hypertrophic Cardiomyopathy ความผิดปกติที่หลอดเลือดโคโรนารีที่เลี้ยงหัวใจ (Abnormalities of coronary arteries)

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คืออะไร

ถ้าเจอคนหมดสติ เราต้องทำอย่างไร

สิ่งแรกที่ต้องทำคือตรวจดูผู้ป่วยหมดสติ โดยเรียกหรือเขย่าตัวดูว่ายังมีการตอบสนองหรือไม่ ถ้าไม่มีการตอบสนอง ให้สังเกตว่าผู้ป่วยมีอาการกระตุกหรือชักเกร็งบ้างหรือเปล่า หรือหายใจเฮือก หรือหยุดหายใจ ถ้ามีให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าผู้ป่วยอาจมีภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน หลังจากนั้นจากนั้นให้รีบโทรศัพท์แจ้งเพื่อขอความช่วยเหลือ จากโรงพยาบาลทันที และเริ่มการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานด้วยการนวดหัวใจ ซึ่งอาจจะยังไม่จำเป็นต้องเป่าปากร่วมด้วย เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้แล้ว หรือถ้าบริเวณนั้นมีเครื่อง Automated External Defibrillator หรือ AED ให้รีบนำเครื่องมาใช้ทันที

แล้วเราจะป้องกันตัวเอง ให้ปลอดภัยจากโรคนี้อย่างไร

พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ดีจะสามารถลดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน รวมทั้งโรคหัวใจได้ เริ่มตั้งแต่การกินอาหารสุขภาพ เช่นผัก, ผลไม้, พืชเมล็ดถั่ว, ปลา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่นเดินเร็วประมาณ 30 นาทีให้ได้เกือบทุกๆวัน ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ไม่สูบบุหรี่ และดูแลรักษาโรคประจำตัว โดยเฉพาะเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง


สามารถรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ : คลิกที่นี่

อ้างอิง : คลิกที่นี่

เป็นกำลังใจช่วยแชร์หน่อยค่ะ



ball