เมื่อเราพูดถึง ไอเท็มจำเป็นอย่างหนึ่ง ที่ผู้หญิงทุกคนทั่วโลกขาดไม่ได้อย่าง ผ้าอนามัย เมื่อก่อนสาว ๆ ก็จะมีแต่ ผ้าอนามัยแบบบทั่ว ๆ ไปใช้ แต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน มีการพัฒนา ผ้าอนามัยแบบปกติ จนกลายเป็น ผ้าอนามัยแบบสอด ไปแล้ว ซึ่งเจ้าผ้าอนามัยแบบสอด สาว ๆ หลายคนยังไม่รู้จักมันดีเท่าไหร่ บทความนี้เลยจะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักว่า ผ้าอนามัยแบบสอด คืออะไร มีข้อดีข้อเสียต่างจาก ผ้าอนามัยแบบปกติอย่างไร พร้อมบอก วิธีใส่ผ้าอนามัยแบบสอด แบบละเอียดทุกขั้นตอนว่าใส่ได้แบบไหนบ้าง เป็นอย่างไร ลองไปดูกันเลยจ้า
ผ้าอนามัยแบบสอด คืออะไร
ผ้าอนามัยแบบสอด คือ ผ้าอนามัยประเภทหนึ่งที่สำคัญกับผู้หญิงแบบเรา ๆ ในช่วงที่มีประจำเดือน แน่นอนว่าผ้าอนามัยแบบสอดไม่ได้เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยเพราะใส่ยาก และทุกคนก็ไม่ค่อยกล้าเสี่ยงที่จะลองใส่ จุดเด่นของผ้าอนามัยแบบสอดคือเค้าจะให้ความคล่องตัวสำหรับบางกิจกรรมอย่างเช่นการว่ายน้ำนั่นเอง ทีนี้เราเลยอยากให้สาว ๆ รู้กันก่อนจะไปลองใช้ว่าเจ้าผ้าอนามัยแบบสอดเป็นยังไง มีกี่แบบ แล้วถ้าจะใช้ต้องใส่ยังไงบ้าง หากไปใช้โดยที่ไม่ได้ศึกษาอะไรเลยอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
ผ้าอนามัยแบบสอด ทำงานอย่างไร
ผ้าอนามัยแบบสอด มีลักษณะเป็นแท่งคล้าย ๆ กับสำลีอัดแข็ง ถัดจากตัวสำลีจะมีเชือกเส้นเล็ก ๆ ขนาดไม่ยาวมากนักติดอยู่ที่ส่วนปลายเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน และเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วว่า ขึ้นชื่อว่าผ้าอนามัย เค้าต้องทำหน้าที่ซับเลือดประจำเดือนให้เราแน่นอน ถ้าต้องการถอดหรือดึงออกก็แค่ดึงปลายเชือกออกเบา ๆ ได้เลย ทั้งนี้ผ้าอนามัยแบบสอดไม่ได้ใส่ยากอย่างที่คิด เพราะผู้ผลิตเค้าทำแท่งพลาสติกขนาดเล็กมาในบรรจุภัณฑ์ เพื่อช่วยดันผ้าอนามัยเข้าไปในช่องคลอดได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ผ้าอนามัยแบบสอดยังมีให้เลือกหลายขนาด ตั้งแต่ความหนาและบางตามปริมาณประจำเดือนของผู้หญิงแต่ละคน
แล้วมันมี ข้อดี-ข้อเสีย ต่างจากแบบปกติอย่างไร
ข้อดี
- ให้ความคล่องตัวที่ดีกว่าถ้าต้องเล่นกีฬาหรือกิจกรรมกลางแจ้ง เพราะผ้าอนามัยแบบสอดจะให้ความรู้สึกที่คล่องตัว และไม่อึดอัดเหมือนเวลาที่เราต้องใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่น
- สามารถใช้งานเวลาอยู่ในน้ำได้ เวลาอยากเล่นน้ำช่วงมีประจำเดือนให้ใช้ผ้าอนามัยแบบสอด เพราะผ้าอนามัยแบบสอดจะช่วยดูดซับเลือดประจำเดือนได้ แต่ควรรีบเปลี่ยนทันทีที่ขึ้นจากน้ำ
- สะดวกต่อการพกพา ประหยัดพื้นที่ เพราะผ้าอนามัยแบบสอดมีขนาดเล็กกว่าผ้าอนามัยแบบแผ่น
ข้อเสีย
- เสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง และก่อให้เกิดกลุ่มอาการท็อกซิกช็อกที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
- อาจก่อให้เกิดการเกร็งช่องคลอดหรือเยื่อพรหมจรรย์ฉีกขาดได้
“ ข้อควรระวัง “ ผลข้างเคียงจาก อาการท็อกซิกช็อก
อาการท็อกซิกช็อก (Toxic Shock Syndrome: TSS) หรือที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่าติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นผลข้างเคียงที่อันตรายที่สุดสำหรับการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด ถึงแม้ว่าภาวะนี้จะเกิดขึ้นได้น้อยมากกก แต่อาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งสาเหตุของภาวะนี้เกิดขึ้นจากพิษของเชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) กลุ่มเอ ที่มีความรุนแรง เกิดขึ้นได้กับผู้ที่ใช้ผ้าอนามัยแบบสอดชนิดซึมซับได้ดีเป็นพิเศษ เพราะจะทำให้ระยะห่างของการเปลี่ยนผ้าอนามัยมันยาวนานมากขึ้น จนก่อให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อและกระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ในที่สุด
วิธีใส่ผ้าอนามัยแบบสอด ทำอย่างไร
การใส่ผ้าอนามัยแบบสอด ควรจะศึกษาหาความรู้แล้วใส่ให้ถูกวิธีด้วยนะ ไม่ใช่ใส่มั่ว ๆ ได้นะ อาจจะเกิดอันตรายได้ ซึ่งวิธีการใส่ปกติก็จะมีอยู่ 2 วิธีด้วยกัน และมีวิธีถอด และ ทิ้ง ดังต่อไปนี้
วิธีใส่
- แบบใช้นิ้วมือช่วย ใช้นิ้วมือที่ไม่ถนัดเปิดช่องคลอด และสอดผ้าอนามัยเข้าไปตรงกลางจนมิด ถ้าใส่ถูกต้องจะรู้สึกสบายตัว ไม่เจ็บหรืออึดอัด
- แบบใช้ก้านช่วยใช้มือข้างที่ไม่ถนัดเปิดช่องคลอด จากนั้นให้สอดผ้าอนามัยที่มีอุปกรณ์ช่วยดันเข้าไป ตอนดันอุปกรณ์เข้าไปให้ดันจนสุดตามที่กำหนด เสร็จแล้วเอาอุปกรณ์ออกมา ถ้าใส่ถูกเชือกที่ติดอยู่กับผ้าอนามัยแบบสอดจะอยู่ด้านนอก
วิธีถอด
ใช้มือเปิดอวัยวะเพศของตัวเองเล็กน้อย จากนั้นให้ดึงเชือกที่ติดมากับตัวผ้าอนามัยแบบสอดได้เลย ตอนดึงไม่ต้องออกแรงมากจนเกินไปนะคะ เพราะถ้าผ้าอนามัยซึมซับประจำเดือนได้ดีจะดึงออกมาง่ายมาก
วิธีทิ้ง
ปกติเวลาเราใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่นจะต้องห่อเค้าด้วยกระดาษให้มิดชิดก่อนทิ้งลงถังขยะใช่ไหมคะ เวลาเราจะทิ้งผ้าอนามัยแบบสอดก็ทำเหมือนกันเลยคือห่อด้วยกระดาษให้มิดชิดก่อนแล้วค่อยทิ้งลงถังขยะ เผื่อมีใครสงสัยว่าทำไมใช้ผ้าอนามัยแบบสอดแล้วทิ้งลงชักโครกเลยไม่ได้ คำตอบคือจริง ๆ แล้วสามารถทำได้แต่ถ้าแรงดันของน้ำชักโครกที่ทิ้งไม่แรงพอก็จะทำให้เกิดการอุดตันนั่นเอง ฉะนั้นเราแนะนำให้สาว ๆ ใช้วิธีทิ้งผ้าอนามัยแบบเดิมที่เคยทำกันอยู่แล้วจะดีกว่า
“ข้อแนะนำ” ผ้าอนามัยแบบสอดควรเปลี่ยนทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง อย่างนานที่สุดคือ 8 ชั่วโมง ไม่ควรใส่นานเกินนี้นะคะ
สามารถรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ : คลิกที่นี่
อ้างอิง : คลิกที่นี่