ประวัติวันลอยกระทง
ประวัติวันลอยกระทง ประเพณีสำคัญของประเทศไทยมีมาแต่โบราณปฏิบัติสืบต่อกันมาในคืนวันเพ็ญ เดือน 12 หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 อันเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง และเป็นช่วงที่น้ำหลากเต็มตลิ่ง มีจุดประสงค์ และความเชื่อ ในการลอยกระทงแตกต่างกันไป เช่น ในเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ก็จะเป็นการบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์, เป็นบูชารอยพระพุทธบาท ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา ซึ่งปัจจุบันคือแม่น้ำเนรพุททาในอินเดีย หรือต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งไปโปรดพระพุทธมารดา โดยจะมีการนำดอกไม้ ธูป เทียน หรือสิ่งของใส่ลงในสิ่งประดิษฐ์รูป หรือกระทงรูปแบบต่าง ๆ ที่ไม่จมน้ำ เช่น กระทง เรือ แพ ดอกบัว ฯลฯ แล้วนำไปลอยตามลำน้ำ

วันคนโสด ประวัติ ความเป็นมา เกิดอะไรขึ้นในวันวันนี้ 

ประวัติวันลอยกระทง ตำนาน ความเชื่อ และที่มาประเพณีลอยกระทง

ประวัติ วันลอยกระทง มีจุดเริ่มต้นไม่ได้มีหลักฐาน ระบุ ที่ชัดเจนว่าเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใด แต่เชื่อว่าการลอยกระทงไม่ได้มีแค่ในวัฒนธรรมไทยเท่านั้น แต่ยังปรากฏในหลายวัฒนธรรมแถบเอเชียที่มีความเชื่อเกี่ยวข้องกับศาสนา โดยเฉพาะคติพุทธและพราหมณ์ที่ลอยกระทงเพื่อเป็นพุทธบูชาต่อสิ่งที่ให้ความเคารพนับถือ ที่มาและประวัติวันลอยกระทงสั้น ๆ มีหลายตำนานด้วยกัน ยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

1. ประวัติ วันลอยกระทงเพื่อบูชาพระพุทธบาท
ความเชื่อเกี่ยวกับการลอยกระทงเพื่อขอบูชาพระพุทธบาทมีหลายตำนานด้วยกัน บางส่วนเชื่อว่าเป็นการรอรับเสด็จพระพุทธเจ้า หลังเสด็จไปโปรดพระมารดา บ้างก็ถือเป็นการบูชาพระจุฬามณีเจดีย์ ในขณะที่ชาวพุทธอีกจำนวนมาก ก็เชื่อว่าตำนานการลอยกระทงมีความเชื่อมโยงกับเรื่องเล่าในสมัยพุทธกาล

เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ารับข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดานำมาถวาย หลังเสวยแล้ว ก็ทรงนำถาดทองมาลอยน้ำและตั้งสัตยาธิษฐานว่า หากในภายภาคหน้าจะสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ขอให้ถาดทองลอยทวนน้ำ ปรากฏว่าถาดทองลอยทวนน้ำจนกระทั่งพญานาคแห่งเมืองบาดาลเห็นเข้า จึงรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาและขอให้พระพุทธเจ้าประทับรอยพระบาทไว้ ณ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อที่เหล่าพญานาคจะได้ขึ้นมาสักการะ

ส่วนนางสุชาดาเมื่อทราบเรื่องนี้ จะนำถาดใส่เครื่องหอมและดอกไม้เพื่อนำมาสักการบูชารอยพระพุทธบาทเช่นเดียวกัน จึงกลายเป็นที่มาของการลอยกระทงเพื่อเป็นพุทธบูชาในทุกวันเพ็ญเดือน 12 ซึ่งกลายเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา

2. ประวัติ วันลอยกระทงเพื่อบูชาเทพเจ้าสูงสุดของพราหมณ์
ผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จะทำพิธีลอยโคมประทีปเพื่อบูชาพระอิศวร, พระนารายณ์ และพระพรหม ซึ่งต่อมาชาวพุทธได้นำมาปรับใช้ในการบูชาองค์ศาสดา แต่เปลี่ยนมาเป็นการลอยกระทงดอกบัวลอยไปตามสายน้ำเพื่อสักการะรอยพระพุทธบาทแทนนั่นเอง

3. ประวัติวันลอย กระทงเพื่อรำลึกการปกป้องศาสนาของพญานาค
มีอีกหนึ่งความเชื่อประวัติลอยกระทงที่เล่ากันว่า พระเจ้าอโศกมหาราช มีพระราชประสงค์ในการสร้างเจดีย์ให้ครบ 84,000 องค์ ตามจำนวนพระไตรปิฎกที่มีจำนวน 84,000 พระธรรมขันธ์ แต่ไม่สำเร็จเพราะมีมารมาขัดขวาง พระอุปคตมหาเถระ จึงไปขอให้พญานาคมาช่วยปราบมารเป็นผลสำเร็จ การลอยกระทงในคืนเดือนเพ็ญ จึงถือเป็นการรำลึกและบูชาพญานาคที่มาช่วยคุ้มครองพุทธศาสนา
ประวัติลอยกระทงสมัยสุโขทัย และตำนานนางนพมาศ
เชื่อว่าประวัติลอยกระทงที่คนไทยคุ้นเคยกันมากที่สุด ก็คือตำนาน “นางนพมาศลอยกระทง” ซึ่งเป็นเรื่องเล่ากึ่งตำนานที่ยึดถือตามหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ที่เชื่อว่านางนพมาศเป็นพระสนมของพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย และเป็นกุลสตรีผู้คิดประดิษฐ์รูปดอกบัวโกมุท เพื่อใช้ในพระราชพิธีลอยพระประทีป ซึ่งเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระร่วง และรับสั่งให้ปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน

แต่ขณะเดียวกัน ก็มีข้อโต้แย้งทางประวัติศาสตร์ที่สันนิษฐานว่า จริงๆ แล้ว ตำนานนางนพมาศอาจเป็นเรื่องที่แต่งเพิ่มเติมเข้าไปหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เนื่องจากภาษาโวหารมีความเป็นสมัยใหม่กว่าภาษาที่ใช้กันในสมัยสุโขทัย ทำให้บางฝ่ายมองว่าตำนานนางนพมาศอาจเป็นเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ได้ ทั้งนี้ ประวัติลอยกระทงสมัยสุโขทัยและนางนพมาศ ก็ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน

สรุป ประวัติวันลอยกระทง เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า ปฏิบัติกันมาแต่เมื่อไร เพียงแต่ท้องถิ่นแต่ละแห่งก็จะมีจุดประสงค์แตกต่างกันไป ร่วมถึงเรื่องรายละเอียด พิธีกรรม และความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น แม้แต่ในบ้านเราเอง การลอยกระทง ก็มาจากความเชื่อที่หลากหลายเช่นกัน โดยวันลอยกระทงไม่ได้มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศจีน อินเดีย เขมร ลาว และพม่า ก็มีการลอยกระทงคล้าย ๆ กับบ้านเรา


ขอบคุณเนื้อหาจาก : wikipedia

เป็นกำลังใจช่วยแชร์หน่อยค่ะ



ball