ล่าสุด ในละครไทยเรื่องพรหมลิขิต ภาคต่อของบุพเพสันนิวาสที่โด่งดังอย่างมากในปี 2561 โดยนักแสดงนำอย่าง เบลล่า ราณี และ โป๊ป ธนวรรธน์ เป็นพระนางของละครเรื่องนี้ ซึ่งแน่นอนว่าภาคต่อก็โด่งดังและได้รับความนิยมไม่แพ้กัน โดยตอนล่าสุดตัวเอกของละครเรื่องนี้ได้มีการกล่าวถึงตำนานพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งเป็นสมัยพระเจ้าเสือหรือในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ 8 ทำให้มีคนจำนวนมากสนใจประวัติความเป็นมาของพันท้ายนรสิงห์กันอย่างมาก และจุดเริ่มต้นของตำนานพันท้ายนรสิงห์นั้นอยู่ที่คลองโคกขาม อย่างที่มีการกล่าวถึงในเรื่องพรหมลิขิตหลาย ๆ ฉาก และสำหรับใครที่อยากรู้ประวัติจุดเริ่มต้นของตำนานพันท้ายนรสิงห์ วันนี้เราจะพาทุกคนมาเปิด ประวัติคลองโคกขาม ไปด้วยกัน
Soft Power คืออะไร ทำความเข้าใจ พลังซอร์ฟ ที่ใคร ๆ ก็ชอบพูดถึงกัน
ประวัติคลองโคกขาม ตำนานพันท้ายนรสิงห์
คลองโคกขาม ในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) เสด็จประพาสปากน้ำเมืองสาครบุรี เมื่อปี พ.ศ.2247 ด้วยเรือพระที่นั่งเอกชัย ล่องลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาถึงบางกอก พ้นคลองลัดบางกอก เข้าคลองบางกอกใหญ่ (แม่น้ำเจ้าพระยาเดิม) ออกคลองด่าน คลองสนามชัยถึงคลองโคกขาม พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติช มิวเซียม ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า
ใน พ.ศ. 2246-2252 ครั้งที่สมเด็จพระเจ้าเสือ เสด็จโดยเรือพระที่นั่งเอกไชย จะไปประพาสเพื่อทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี ขณะเรือพระที่นั่งถึงตำบลโคกขาม ซึ่งเป็นคลองคดเคี้ยว และมีกระแสน้ำเชี่ยวกราก พันท้ายนรสิงห์ซึ่งถือท้ายเรือพระที่นั่งมิสามารถคัดแก้ไขได้ทัน ทำให้หัวเรือพระที่นั่งชนกิ่งไม้ใหญ่หักตกลงไปในน้ำ ซึ่งพันท้ายนรสิงห์รู้ว่า ความผิดครั้งนี้มีโทษถึงประหารชีวิตตามโบราณราชประเพณี ที่กำหนดว่า “ถ้าผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่งให้หัวเรือพระที่นั่งหัก ผู้นั้นถึงมรณะโทษให้ตัดศีรษะเสีย”
พันท้ายนรสิงห์จึงกราบบังคมทูลพระเจ้าเสือให้ประหารชีวิตตามกฎมณเฑียรบาลแต่พระเจ้าเสือทรงพิจารณาเห็นว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นการสุดวิสัยมิใช่ความประมาท จึงพระราชทานอภัยโทษให้ ซึ่งพันท้ายนรสิงห์ก็ยังยืนยันขอให้ตัดศีรษะตน เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดกฎหมาย เป็นการป้องกันมิให้ผู้ใดครหาติเตียนพระเจ้าอยู่หัวได้ว่า ทรงละเลยพระราชกำหนดของแผ่นดิน และเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป
พระเจ้าเสือ จึงโปรดให้ฝีพายทั้งปวงปั้นมูลดินเป็นรูปพันท้ายนรสิงห์ แล้วให้ตัดศีรษะรูปดินนั้นเพื่อเป็นการทดแทนกัน แต่พันท้ายนรสิงห์ยังบังคมกราบทูลยืนยันขอให้ประหารตน แม้พระเจ้าเสือจะทรงอาลัยรักน้ำใจพันท้ายนรสิงห์เพียงใด ก็ทรงจำฝืนพระทัยปฏิบัติตามพระราชกำหนด ดำรัสสั่งให้เพชฌฆาตประหารพันท้ายนรสิงห์ แล้วโปรดให้ตั้งศาลสูงประมาณเพียงตา นำศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับหัวเรือพระที่นั่งเอกไชยซึ่งหักนั้น ขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาลพันท้ายนรสิงห์ (ปัจจุบันตั้งอยู่ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร) เพื่อเป็นการรำลึกถึงพันท้ายนรสิงห์ข้าหลวงเดิมซึ่งเป็นคนซื่อสัตย์ มั่นคง ยอมเสียสละชีวิตโดยไม่ยอมเสียพระราชประเพณี
พระเจ้าเสือทรงมีรับสั่งให้ขุดคลองโคกขาม
พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าเสือมีพระราชดำริว่า คลองโคกขามนั้นคดเคี้ยวนักคนทั้งปวงจะเดินเรือเข้าออกยาก ต้องอ้อมวงไปไกลกันดารนัก ควรให้ขุดคลองลัดเสียให้ตรงจึงจะซอย แล้วมีพระราชโองการตรัสสั่งสมุหนายกให้เกณฑ์เลกหัวเมืองได้ 30,000 ไปขุดคลองโคกขาม และให้ขุดลัดให้ตรงคตลอดไป โดยลึกหกศอก ปากคลองกว้างแปดวา พื้นคลองกว้างห้าวา และให้พระราชสงครามเป็นแม่กองคุมพลหัวเมืองทั้งปวงขุดคลองจงแล้ววสำเร็จดุจพระราชกำหนด
แม้จะเกณฑ์กำลังคนถึง 30,000 คน จากเมืองนนทบุรี เมืองราชบุรี และเมืองสมุทรปราการ เริ่มขุดในปี พ.ศ.2248 จนสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ ในปี พ.ศ.2251 ก็ยังไม่เสร็จ การจึงค้างมา ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เมื่อปี พ.ศ.2264 เสด็จประพาสปากอ่าวสาครบุรี เห็นคลองนั้นขุดยังไม่แล้วเสร็จค้างอยู่ จึงตรัสสั่งให้พระราชสงครามเป็นนายกอง ให้เกณฑ์คนหัวเมืองปากใต้แปดหัวเมือง ได้คนสามหมื่นเศษสี่หมื่นไปขุดคลองมหาไชย จึงให้ฝรั่งเศสส่องกล้องแก้ว ดูให้ตรงปากคลอง ปักกรุยเป็นสำคัญทางไกล 340 เส้น คลองมหาชัยขุดเชื่อมคลองด่านขุดตรงเป็นแนว ตั้งแต่หน้าวัดแสมดำ เขตบางขุนเทียน ไปบรรจบแม่น้ำท่าจีน ที่บริเวณหน้าศาลหลักเมืองในปัจจุบัน ใช้เวลาขุดเพียงสองเดือนเศษก็แล้วเสร็จ เมื่อขุดเสร็จแล้วพระราชทานชื่อว่า “คลองมหาชัย”
สรุป ประวัติคลองโคกขาม โดยคลองโคกขามเป็นคลองที่มีความคดเคี้ยวมาก ลักษณะเป็นโค้งข้อศอก กระแสน้ำเชี่ยวมากยากต่อการเดินเรือ ทำให้ครั้งที่พระเจ้าเสือ หรือสมเด็จพระสรรเพชรที่ 8 (พ.ศ. 2246-2252) เสด็จประพาสต้นไปตามลำคลองโคกขามด้วยเรือพระที่นั่งเอกชัย ได้เกิดอุบัติเหตุเรือพระที่นั่งชนกิ่งไม้หัก ทำให้พันท้ายนรสิงห์ ถูกประหารชีวิต บริเวณที่ประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์ พระเจ้าเสือทรงโปรดให้ขุดคลองลัดตัดทางคดเคี้ยวของคลองโคกขามให้ตรง โดยให้เจ้าพระยาราชสงครามเป็นแม่กองคุมไพร่พลจำนวน 3,000 คน ขุดคลองตัดจากคลองโคกขามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2248 ตรงมาเชื่อมกับแม่น้ำท่าจีน ขนาดคลองกว้าง 5 วา ลึก 6 ศอก เสร็จในปี พ.ศ.2252 ในสมัยของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เมื่อขุดเสร็จจึงได้พระราชทานนามว่า “คลองสนามไชย “ ต่อมาเปลี่ยนเป็น “คลองมหาชัย” แต่บางทีชาวบ้านก็เรียกว่า “คลองถ่าน” และที่ปากคลองมหาชัยติดกับคลองโคกขามจะมีศาลพันท้ายนรสิงห์อีกศาลหนึ่ง
ขอบคุณเนื้อหาจาก : wikipedia